ทุกหน่วยต้องบูรณาการแก้ปัญหา
นางนฤมลกล่าวด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นห่วงวิกฤติภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงกว่าทุกปี เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญและเตรียม พร้อมรับมืออย่างเป็นระบบ เพราะไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต แต่ยังส่งผลถึงภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ที่ผ่านมามีการดำเนินงานผ่านสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ทั้งนี้เพื่อให้การแก้ไขเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วทันท่วงที ต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงการวางแผนการใช้ทรัพยากรน้ำในระยะยาว ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ที่มีเป้าหมาย “ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน”
เขื่อนอุบลรัตน์–จุฬาภรณ์น้ำน้อย
สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนต่างๆนั้นนายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคอีสานกลางว่า ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น และเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย สามารถสนับสนุนน้ำได้เฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น เพราะปัจจุบันที่เขื่อนอุบลรัตน์ได้นำน้ำก้นอ่างมาใช้แล้วประมาณ 95 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และขอยืนยันไม่กระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของตัวเขื่อน ส่วนที่เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ในเกณฑ์ปกติ สามารถสนับสนุนน้ำสำหรับทุกกิจกรรมได้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า
ขอ 5 จังหวัดใช้น้ำอย่างประหยัด
นายศักดิ์ศิริเปิดเผยอีกว่า ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด สำนักงานชลประทานที่ 6 วางแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง 62/63 เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้า ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนใช้น้ำตามแผนที่ได้วางไว้อย่างเคร่งครัด สั่งให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่ทั้ง 5 จังหวัด ประกอบด้วย ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด ประชาสัมพันธ์ชี้แจงสถานการณ์น้ำให้ประชาชน และเกษตรกรในพื้นที่ได้รับทราบอย่างทั่วถึง รณรงค์ให้ทุกภาคส่วน ใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด
วางแผนการผลิตน้ำประปา
สำหรับ จ.ขอนแก่น และ จ.ชัยภูมิ เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพรมเชิญ เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำดิบ สำหรับผลิตประปา อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ และ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น พร้อมประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ ขอความร่วมมือใช้น้ำอย่างประหยัด และคุ้มค่าเพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ โครงการชลประทานกาฬสินธุ์ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ลงพื้นที่ประชุม คณะกรรมการจัดการชลประทานของอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อชี้แจงแผนการบริหารจัดการน้ำ พร้อมชี้แจงสถานการณ์น้ำและรณรงค์ให้ใช้น้ำอย่างประหยัดอีกด้วย
ระดับน้ำโขงต่ำสุดในรอบ 10 ปี
ที่ จ.นครพนม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระดับน้ำโขงขณะนี้มีระดับต่ำสุดในรอบหลายสิบปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ตลอดจนปัญหาการเก็บกักน้ำของเขื่อนประเทศจีน ทำให้ระดับน้ำโขงผันผวนมีระดับน้ำต่ำเฉลี่ยประมาณ 1 เมตร ส่งผลให้ในพื้นที่ อ.เมือง อ.ท่าอุเทน อ.บ้านแพง และ อ.ธาตุพนม เกิดสันดอนทราย เป็นพื้นที่กว้าง ระยะทางยาวกว่า 1 กม. กระทบต่อการเดินเรือข้ามฟาก ชาวประมง เกษตรกรริมฝั่งแม่น้ำโขง ต้องเพิ่มระยะทางการสูบน้ำ เพื่อใช้ในการเกษตร ส่งผลให้มีต้นทุนสูง และหากระดับน้ำโขงลดต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบขยายวงกว้างมากขึ้น
ขุดลอกน้ำจุดเกิดสันดอนทราย
ด้านนายสยาม ศิริมงคล ผวจ.นครพนม เปิดเผยว่า ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งสำรวจและวางแผนรับมือนำเครื่องจักรลงพื้นที่เปิดทางน้ำ ชักร่องน้ำในจุดที่เกิดสันดอนทราย ให้เกษตรกรสามารถผันน้ำโขงทำการเกษตรได้ รวมถึงขุดลอกเปิดทางน้ำในจุดที่สันดอนทรายขวางเส้นทางเดินเรือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ในส่วนของจุดสูบน้ำใช้ผลิตน้ำประปาในตัวเมืองและอำเภอชายแดน ยังสามารถผลิตน้ำประปาได้ เพราะจุดสูบน้ำยังมีปริมาณน้ำเพียงพอ ที่สำคัญเสนอไปยังรัฐบาลขอสนับสนุนงบประมาณมาดำเนินการขุดลอกพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ 12 อำเภอ จะสามารถรับมือช่วยเหลือชาวบ้าน มีน้ำใช้ในการเกษตร และใช้อุปโภคบริโภค รวมถึงเก็บกักน้ำไว้ใช้ในปีต่อไป
เลยน้ำน้อยสุดในรอบ 65 ปี
ที่ อ.วังสะพุง และ อ.เมืองเลย พบว่าอ่างเก็บน้ำห้วยอีเลิศ ต.วังสะพุง แห้งขอดจากความจุ 1,431 ล้าน ลบ.ม. วันนี้เหลือเพียง 6 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถบริการพื้นที่การเกษตรมาแล้วหลายเดือน ส่วนที่อ่างน้ำพาว ต.เมืองเลย อ.เมืองเลย จากความจุอ่าง 1,364 ล้าน ลบ.ม. วันนี้เหลือเพียง 6 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้งหมดรวม 14 แห่ง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปี 62 มีน้ำเฉลี่ย 67 เปอร์เซ็นต์ แต่ปี 63 มีน้ำเฉลี่ยเพียง 33 เปอร์เซ็นต์ นับว่าน้ำน้อยที่สุดในรอบ 65 ปี
แจ้งงดทำการเกษตรทุกชนิด
นายกิตติคุณ บุตรคุณ นายอำเภอเมืองเลย กล่าวว่า อ่างน้ำพาวน้ำเหลือน้อย มีผู้ใช้น้ำประมาณ 400 ครอบครัว พื้นที่การเกษตรมากกว่า 3,000 ไร่ ชาวบ้านตั้งกลุ่มและมีการจัดสรรน้ำตามข้อตกลง แบ่งน้ำกันใช้ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด แต่มาปีนี้เนื่องจากน้ำแห้งขอด ต้องแจ้งให้เกษตรกรงดทำการเกษตรทุกชนิด ด้านนายสุชัจจ์ สมรักษ์ กำนันตำบลศรีสงคราม อ.วังสะพุง จ.เลย เปิดเผยว่า ปีนี้แล้งมาเร็วและแล้งหนักมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา ข้าว พืชไร่ แห้งตายเพราะขาดน้ำ จำเป็นต้องทำหนังสือขอรับการสนับ สนุนการช่วยเหลือจากทาง อบต.ทางอำเภอ นำน้ำไปแจกที่ถังเก็บน้ำกลางหมู่บ้าน จากนั้นชาวบ้านจะนำรถกระบะ และรถเข็นมารับไปใช้ในครอบครัว
เจาะบาดาลกลางแม่น้ำยม
ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งในแม่น้ำยม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เริ่มรุนแรงอย่างต่อเนื่อง แม่น้ำยมสายหลักที่ไหลผ่าน ต.ชุมแสงสงคราม ต.คุยม่วง ต.ท่านางงาม และ ต.บางระกำ บางช่วงแห้งขอดน้ำที่ขังในแอ่งเริ่มเหือดแห้งลงไปเรื่อยๆ ชาวนาในเขต ต.ชุมแสงสงคราม ที่ปลูกข้าวไว้กว่า 10,000 ไร่ ต่างวิตกกังวลว่าต้นข้าวจะขาดแคลนน้ำล้มตาย บางแปลงข้าวตั้งท้องแล้ว ต้องใช้วิธีเจาะเอาน้ำบาดาลบริเวณกลางแม่น้ำยมที่แห้งขอดขึ้นมาใช้โดยสูบน้ำเอาไปเก็บไว้ในแอ่งที่มีความลึก ก่อนใช้เครื่องสูบน้ำดึงน้ำเข้านาข้าวอีกทอด นับว่าเป็นสถานการณ์ภัยแล้งที่คล้ายคลึงกับปี 2558 ที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำยมในเขต อ.บางระกำ